วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550


โครงการศิลปะเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาสจังหวัดอุบลราชธานี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ”โครงการศิลปะเด็ก” ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนคุ้มครองเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกลุ่มสื่อใสวัยทีน ร่วมกับ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุบลราชธานี (ศนจ.) ในฐานะรับผิดชอบ ส่งเสริม สนับสนุน สถานศึกษาเครือข่ายในการร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน ให้กับเด็กเร่ร่อนในรูปแบบบูรณาการ ได้ร่วมดำเนินโครงการในพื้นที่ 6 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครอุบล ได้แก่ ชุมชนวังแดง ชุมชนวังทอง ชุมชนคุรุมิตร และ เขตเทศบาลเมืองอำเภอวารินชำราบ ได้แก่ ชุมชนคำน้ำแซบ ชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนหาดสวนสุข ซึ่งอาชีพคนในชุมชนส่วนใหญ่ขายพวงมาลัย เก็บขยะขาย หาของเก่า เด็กๆ ต้องออกไปทำงาน เพื่อช่วยเหลือครอบครัว เป็นการรับภาระหน้าที่เกินวัย ขาดสมาธิในการเรียนหนังสือ ขาดโอกาสในการเข้าถึงด้านสังคม การศึกษา นันทนาการ ศิลปะ และการเรียนรู้ด้านอื่นๆ



ในการจัดกิจกรรมศิลปะเด็กทั้ง 6 ชุมชน เริ่มจาก อาสาสมัครจะมีกิจกรรมสันทนาการ เกมและการละเล่นต่างๆ ให้เด็กๆ ได้สนุกสนาน และเกิดความคุ้นเคย เด็กๆ จะได้เปิดตัวเองโดยไม่รู้ตัว เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มกิจกรรมศิลปะ แต่ละครั้งก็จะเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมือนกัน เด็กๆ จึงได้สนุกกับกิจกรรมศิลปะต่างๆไม่ซ้ำกัน อันได้แก่ การวาดภาพระบายสี การปั้นดินเหนียว การทำหุ่นมือจากกระดาษ การทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติ






“โครงการศิลปะเด็ก” แม้เป็นโครงการเล็กๆ ทั้งงบประมาณ และระยะเวลา หากจะให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน ต้องมีการทำงานเชิงบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ถือได้ว่าผลของโครงการ ได้เกิดสิ่งดีดีขึ้นแก่เด็กๆ ในชุมชน และเยาวชนกลุ่มสื่อใสวัยทีน เป็นอย่างมาก จนเกินประเมินค่าได้ สิ่งดีดีที่เกิดขึ้น เปรียบเหมือนเราปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความดีงาม ลงในใจของพวกเขา ความดีงามเหล่านี้จะอยู่ในใจของพวกเขาตลอดไป เราได้แต่เฝ้ามองการเติบโตอย่างช้าๆ และไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน มีอาชีพอะไร หวังเพียงสักวันหนึ่ง พวกเขาจะได้แบ่งปันความดีงามให้ผู้อื่นต่อไป




บทความ : นายกิตติพงษ์ ภาษี หัวหน้าโครงการ


ผ่านไปแล้ว กับกิจกรรม “Workshop การละคร” ภายใต้โครงการละครตะลอนทัวร์ ปี2 ตอน “ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” โดยได้รับการสนับสนุนจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีน้องๆ เยาวชนแกนนำกลุ่มสื่อใสวัยทีนและเยาวชนแกนนำ 5 โรงเรียน โรงเรียนละ 7 คน รวมจำนวนทั้งหมด 60 คน





ในการนี้ เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแก่เด็กและเยาวชนแกนนำ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Workshop การละคร” เพื่อใช้กระบวนการการละครพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และสามารถผลิต “สื่อละคร” ตามแบบฉบับของตัวเองได้ ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพี่ๆ จากกลุ่มอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา ที่นำกระบวนการ “Workshop” ในครั้งนี้ น้องๆได้ฝึกเรื่องต่างๆ ทั้งสมาธิ จินตนาการ ความเชื่อ อารมณ์ในการละคร การสร้างภาพ การสร้างโครงเรื่อง






ค่ายฯ ครั้งนี้ได้รับความรู้ด้านการละคร ความสนุกสนาน และเพื่อนใหม่ด้วย และที่สำคัญ น้องๆแต่ละโรงเรียนได้โครงเรื่องละคร ที่จะไปพัฒนาต่อในโรงเรียน คอยติดตามผลงานและฝีมือของน้องๆ ได้ทางทีมงานจะได้รายงานครั้งต่อไป




ทางกลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อ” ภายใต้โครงการละครตะลอนทัวร์ ปี2 ตอน “ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” โดยได้รับการสนับสนุนจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเรียนรู้เรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อ” และสามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจสู่เพื่อนเยาวชนด้วยกันได้ โดยมีเยาวชนแกนนำ 5 โรงเรียนๆ จำนวน 40 คน รูปแบบการอบรม เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้น้องๆเข้าใจเนื้อหา ใช้ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ในวันที่ 8-9 กันยายน 2550 ณ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี





ในการอบรม ได้รับความกรุณาจาก อาจารย์ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรในครั้งนี้ เยาวชนได้ทำความเข้าใจกระบวนการผลิตสื่อ ให้วิเคราะห์สื่อโฆษณา แล้วมีการดูหนังสั้น เรื่อง “ลวงโลก / โลกลวง” โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพี่ๆ ที่ทำหนังสั้นมืออาชีพจาก Thai short-film ด้วย

กิจกรรมต่อจากนี้ ช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม จะมีเป็นการ “workshop การละคร” โปรดติดตามตอนต่อไป

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กลุ่มเด็กและเยาวชน วอนเมื่อเด็กนำให้ผู้ใหญ่หนุน

หลังจากจัดกิจกรรมรับสมัครเยาวชนเข้าร่วม โครงการละครตะลอนทัวร์ ปี2 ตอน “ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” ตามโรงเรียนต่างๆไปแล้วนั้น มีเยาวชนที่สนใจประเด็น “การรู้เท่าทันสื่อและการละคร”สมัครเข้ามามากพอดู ทางกลุ่มสื่อใสวัยทีน จึงได้จัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจและแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกัน ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2550 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)


ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเยาวชนแกนนำกลุ่มสื่อใสวัยทีนทั้งเก่าและใหม่ เยาวชนแกนนำและอาจารย์ที่ปรึกษา 5 โรงเรียนเป้าหมาย ตลอดจนองค์กร ภาคีเครือข่าย การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มาพูดคุยกับเยาวชน ในหัวข้อ “สื่อ...เพื่อนสนิทหรือมิตรคิดหักหลัง” คุณหมอได้ให้ความหมายของสื่อ และให้ข้อคิดว่าเราจะอยู่กับสื่ออย่างเท่าทันได้อย่างไร ตลอดจนชื่นชมแกนนำเยาวชน ที่สนใจศึกษาเรื่องเหล่านี้ และสนับสนุนให้เด็กได้ทำสื่อดีดี ด้วยตนเอง มีเวทีให้ได้ลองเรียนรู้อีกมาก เด็กต้องเป็นคนบอกว่าต้องการอะไร อยากทำอะไร เข้าทำนอง “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” แล้วสื่อที่เด็กเป็นคนทำจะตรงความต้องการของเด็กมากกว่า

จากนั้นเริ่มกระบวนการ สำรวจว่า แต่ละคนรู้จักสื่ออะไรบ้าง แล้วเลือกมา 3 อันดับที่ตนเองรับบ่อยที่สุด (ภาพรวม มีโทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต) จากนั้นแบ่งกลุ่มย่อย พูดคุยแลกเปลี่ยนและนำเสนอเรื่องผลที่เกิดจากการรับสื่อ บรรยากาศเด็กๆแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว บางเรื่องไม่น่าเชื่อเลยว่าเด็กจะคิดได้และมองเห็นภาพปัญหาเชื่อมโยงกันได้

อย่างไรก็ตามเวทีครั้งนี้เป็นเวทีชี้แจงทำความเข้าใจโครงการ และเห็นภาพแผนงานที่จะเกิดขึ้นในเทอมนี้ และเทอมหน้า คอยติดตามกระบวนการต่อไปเป็นการอบรมประเด็น “การรู้เท่าทันสื่อ” เห็นความตั้งใจของเยาวชนแล้ว ทางทีมงานและผู้ใหญ่ใจดีหนุนเต็มที่


ทีมงานสื่อใสวัยทีน
29/ส.ค./50

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2550

เยาวชนกลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้ร่วมงานกับมืออาชีพอย่าง “พี่อั๋น” คนหน้าขาว






เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มสื่อใสวัยทีน มีโอกาสได้ร่วมงานกับมืออาชีพ จาก กลุ่มละครใบ้คนหน้าขาว กับการแสดงละครเวทีเรื่อง “รักแม่นะ” โดยนักแสดงมืออาชีพมากประสบการณ์ อย่าง พี่อั๋น (ไพฑูรย์ ไหลสกุล) พี่ทองเกลือ (ธีรภาพ พรประดิษฐ์) พี่วัฒน์ และพี่เห่า
แม่งานหลักคือชมรมวัฒนธรรมแห่งสายน้ำอุบลราชธานี โดยจัดการแสดงละครเวที ณ โรงละครศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี นอกจากเยาวชนกลุ่มสื่อใสวัยทีนที่ได้ร่วมงานดีดีแบบนี้แล้ว ยังมีเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีรับบทพิธีกรแสนสวยในงาน นักศึกษาชั้นปีที่1 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเล่นดนตรีได้อย่างไพเราะ







เราไปฟังความรู้สึกจากน้องๆที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ น้องแพ็ต น.ส.อัญชลิกา นิยมวงษ์ นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเบญจะมะมหาราช “งานดีดีแบบนี้ชอบมากๆที่ได้ร่วมงานกับมืออาชีพ อย่างพี่อั๋น และพี่ๆทุกคน ตั้งใจทำงานมากและยังสอนทักษะต่างๆด้านละครใบ้ด้วยค่ะ พี่ๆน่ารักทุกคนเลยปกติกลุ่มสื่อใสวันทีน ก็ทำละครอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ได้ประสบการณ์ที่จะไปปรับใช้เยอะมากค่ะ”

และนี่คือโอกาสดีที่เกิดขึ้นในชีวิตของน้องๆ และมีได้กับทุกคนที่เปิดโอกาสให้ตัวเอง ถ้าใครสนใจงานด้านการละคร ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง(ฉาก แสง สี เสียง) ตอนนี้กลุ่มสื่อใสวัยทีน ยังรับอาสาสมัคร ไม่จำกัด เพศ อายุ เข้าร่วมโครงการ “ละครตะลอนทัวร์ปี2” กันอยู่...มาเรียนรู้ด้วยกันนะ

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2550

กิจกรรมรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ "ละครตะลอนทัวร์ ปี2"

กลุ่มสื่อใสวัยทีน บุกโรงเรียน “ตามล่า...หาแฟนพันธ์แท้”

เมื่อวันที่ 9-17สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา กลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้ตระเวนรับสมัครน้องๆที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ละครตะลอนทัวร์ ปี2” โดยบุกไป 5 โรงเรียนแล้ว คือโรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ,โรงเรียนวิจิตราพิทยา โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ,โรงเรียนเทศบาลบูรพา และโรงเรียนปทุมวิทยากรซึ่งได้รับการต้อนรับจากทางคณาจารย์เป็นอย่างดี และน้องๆเยาวชนให้ความสนใจชมละครมากกว่า 3,000 คน หลายๆคนบอกว่าชอบการแสดงละครเพราะได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานบันเทิงไปพร้อมกัน และน้องๆอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก...อะแฮ่ม!!!...ขอบอกว่ามีแน่....และคอยติดตามก็แล้วกัน









อนึ่ง ขณะนี้ กลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้ดำเนินงาน“โครงการละครตะลอนทัวร์ ปี2 ตอน ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” ซึ่งกำลังตระเวนรับสมัครเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการ (ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายเดิมและขยายเพิ่มเติม) จำนวนทั้งหมด 5 โรงเรียน ในกิจกรรมรับสมัครนั้นจะมีการแสดงละคร เรื่อง “ตามล่า...หาแฟนพันธ์แท้” แล้วรับสมัครน้องๆที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะการละครและเรียนรู้เรื่อง “การเท่าทันสื่อ” จนสามารถสร้างสรรค์ละครตามแบบฉบับของตัวเองได้ ซึ่งคอยติดตามว่าน้องๆชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะมีทีเด็ดมากมายแค่ไหน.....(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ศิลปะ – วิทยาศาสตร์ ห้องเรียนมีชีวิตเปิดมุมใหม่สู่ธรรมชาติ

หากเอ่ยถึงการเรียนรู้หลายคนคงมองว่าต้องเป็นห้องสี่เหลี่ยม มีกำแพงรั้วรอบขอบชิด มีอาจารย์ผู้รู้คอยกำกับและให้คำสั่งหรือใส่ความรู้ให้ทุกคนจดจำเพื่อให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนไม่เคยรู้มาก่อน แต่บางทีวิธีการเรียนอาจไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว เพราะวิธีการเรียนรู้ของคนเรานั้นมีหลากหลาย บางทีการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับตำราและห้องสี่เลี่ยมและไม่แบ่งเส้นของความรู้ ทุกคนมีสิทธิ์เรียนได้ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ไหนๆ ทุกคนมีสิทธิ์สนุกกับการหาความรู้ใส่ตัว

เช่นเดียวกับค่ายศิลปะ-วิทยาศาสตร์ หรือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Science – Art Camp ที่จัดโดยกลุ่มสื่อใสวัยทีน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทีมผู้จัดได้ใช้สถานที่บ้านทุ่งนาเมือง ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ทำกิจกรรม งานนี้เด็กที่มาเข้าค่ายเป็นเด็กที่อยู่ในเมือง 25 คนและเด็กในพื้นที่หมู่บ้าน 25 คน รวมทั้งหมดเป็น 50 คน มีพี่เลี้ยงจากหลายองค์กรมาช่วยกันหนุนเสริมกระบวนการ สร้างความครึกครื้นให้กับกิจกรรมครั้งนี้ ทุกคนที่มาเข้าค่ายครั้งนี้จะได้รู้จักคำว่า “ศิลปะ” และคำว่า “วิทยาศาสตร์” โดยเรียนรู้ผ่าน “ภูมิปัญญา” ในชุมชนที่มีกิจกรรมการค้นหาสีธรรมชาติและการทำผ้ามัดย้อม

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆที่มากด้วยความเป็นวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้และภูเขา ซึ่งการจัดค่ายครั้งนี้ได้นำเด็กสองวัฒนธรรมมาเจอกัน ส่วนหนึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เช่นเด็กเมืองมาร่วมเรียนรู้กับวัฒนธรรมที่มีความเป็นศิลปะอย่างเด็กในชุมชน โดยที่มีครูซึ่งเป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ในชุมชนมาสอน พี่เปเล่หรือ คุณกิตติพงษ์ ภาษี หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ในการจัดค่ายครั้งนี้ถือเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาหนุนเสริม โดยมีวัตถุประสงค์คืออยากให้เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ส่วนเด็กในเมืองก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนเพราะเด็กในเมืองจะติดวัตถุ ดังนั้นการเอาเด็กเมืองออกมาเรียนรู้ในค่ายนี้จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของเพื่อนวัยเดียวกัน บางทีในช่วงที่ทำกิจกรรมร่วมกันอาจไม่ได้ผล 100% แต่ในกระบวนการเข้าค่ายจะทำให้เด็กเกิด การเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือการลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เดินป่าสำรวจก็เช่นเดียวกัน เป็นการทำให้เด็กตั้งสมมุติฐาน โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาหนุน เป็นการใช้หลักเหตุและผลสรุปผล ถ้าใช่ตามสมมุติฐานก็เป็นองค์ความรู้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ทดลองใหม่ เป้าหมายที่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ คือ การเข้าใจการดำเนินชีวิต การใช้เหตุและผลควบคู่กับการใช้ปัญญาโดยเบื้องต้นจะมุ่งไปที่เด็กก่อน จากภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วคือ สีและผ้าฝ้ายในชุมชน”

ในระหว่างค่ายมีหลากหลายกิจกรรมให้เด็กได้ร่วมเรียนรู้ เช่น กิจกรรม สำรวจฐานเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมปฏิบัติการค้นหาสีธรรมชาติและกิจกรรมการทำผ้ามัดย้อม โดยแต่ละกิจกรรมเด็กๆได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้แบบมีชีวิตที่เอาตัวเด็กเข้าไปสัมผัสกับการปฏิบัติจริง

“การนำเด็กเมืองมาเจอเด็กพื้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งของเด็กเมืองและเด็กในพื้นที่ ในส่วนของเด็กเมืองเป็นการได้มาเรียนรู้การปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่ เราต้องเข้าใจว่าเด็กมีประสบการณ์และความแตกต่างกัน เช่น บางคนไม่ชอบทำแต่ชอบดู หรือบางคนไม่ชอบดูแต่ชอบทำ มันเป็นการทำให้เด็กปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงที่จะต้องทำกระบวนการให้เข้มแข็ง เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านตัวกิจกรรม มีการเชื่อมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” น.ส.อรทัย ครั้งพิบูล อายุ 28 ปี หรือ พี่วี พี่เลี้ยงจากกลุ่มสื่อใสวัยทีน ครั้งนี้เธอมาร่วมทำกิจกรรมในฐานะนักนักจัดกระบวนการ เป็นผู้พาเด็กๆทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นงานที่พวกเขากำลังเรียนรู้

ห้องเรียนธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยต้นไม้และภูเขาและอบอุ่นด้วยความเป็นชุมชน ในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ จะเห็นเด็กๆจากในหมู่บ้านออกมานั่งทำหน้าสลอนมองดูพี่ที่กำลังออกไม้ออกมือร่าเริง เป็นบรรยากาศความสุขที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในความเป็นชุมชนเล็กๆของพวกเขา บางกิจกรรมเด็กจะต้องเดินป่า เช่น กิจกรรมปฏิบัติการค้นหาสีธรรมชาติ โดยมีพ่อใหญ่แม่ใหญ่จากในชุมชนมาเป็นผู้อาสาพาเดินเช่นเดิม เด็กๆทุกคนมีสมุดและปากกาเป็นอาวุธนอกจากนี้แล้วสิ่งที่ทุกคนจะขาดไม่ได้คือน้ำคนละขวด ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บรรเทาความเหนื่อยล้าจากการเดินครั้งนี้ ยังโชคดีที่ในระหว่างเส้นทางที่เดินทุกคนจะเห็นต้นไม้สูงตระหง่านปกคลุมไม่ให้ได้เจอแสงแดดมากนัก และในระหว่างนั้นเช่นเดียวกัน น้ำที่ไหลตามลำธารเล็กๆก็คอยเป็นกำลังใจที่ดีให้พวกเขาได้เดินอย่างเพลินใจ

เสียงพูดคุยของเด็กๆกลางป่าใหญ่ที่คอยถามพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่อาสาพาเดิน แสดงให้เห็นถึงอาการอยากรู้ของพวกเขา และก็เช่นเดียวกันเมื่อมีคนถามคนตอบก็พลอยมีกำลังใจในการตอบเช่นกัน ในกิจกรรมนี้เด็กๆได้รู้ถึงคุณค่าของต้นไม้ พวกเขารู้ว่านอกจากต้นไม้จะช่วยทำให้อากาศสดชื่นแล้วเปลือกของมันยังเป็นวัตถุดิบอย่างดีในการให้สีธรรมชาติ แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนที่จะได้เปลือกมาเป็นสีนั้น ทุกคนจะต้องรู้ถึงวิธีการเอาเปลือกของต้นไม้ เพราะวิธีการเอาเปลือกไม้นั้น จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง กล่าวคือ การถากเปลือกไม้แต่ละต้นจะต้องถากบางๆไม่ให้คมของมีดเข้าถึงเนื้อเยื่อของต้นไม้เพราะอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ และการถากเปลือกไม้จะต้องเอาในจำนวนที่ไม่มากเพราะต้นไม้จะต้องใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นการเสริมเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างดี


กิจกรรมนี้นอกจากเด็กๆจะได้ค้นหาสีจากเปลือกไม้แล้วพวกเขายังได้เดินไปดูสถานที่ปลูกต้นฝ้ายอันเป็นแหล่งกำเนิดของดอกฝ้ายก่อนจะมาเป็น “ฝ้ายอินทรีย์” ที่พวกเขาเห็น ต้นฝ้ายเหล่านี้จะปลูกตามตลิ่งริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นบริเวณดินที่มีความชุ่มชื้น โดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีใดๆก็จะได้ต้นฝ้ายและดอกฝ้ายตามใจปรารถนา “มาค่ายครั้งนี้ได้มาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชุมชนในความรู้สึก อยากให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของดำรงชีวิตแบบเดิมหรือแบบที่ชุมชนนี้เป็นอยู่ นั่นคือ การหันกลับมาใช้ของใช้ที่สามารถผลิตเองในชุมชนได้ ยิ่งการทำช่วยกันอย่างที่ในชุมชนเป็นก็จะทำให้ความสนิทสนมมีมากขึ้นความวุ่นวายเหมือนสังคมเมืองในปัจจุบันก็จะมีน้อยลง คนก็คงจะรู้จักการพึ่งตนเองเพราะทุกวันนี้ มีแต่เครื่องอำนวยความสะดวกหลายคนแทบไม่ได้ทำอะไรเองเลย” ด.ญ.พัทธกาน สายโสภา หรือน้องเกตุ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนปทุมวิทยากร เล่าสิ่งที่เธอได้ตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างของสังคมเมืองที่เธออาศัยอยู่และความเป็นชุมชนที่เธอได้มาสัมผัส

เป็นความจริงที่ในสังคมปัจจุบันที่คนส่วนมากมักมองเรื่องวัตถุเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้และอำนวยความสะดวกต่อคนปัจจุบัน โดยเฉพาะกับสังคมเมืองที่มีของใช้ทุกอย่างครบโดยที่ทุกคนแทบไม่ต้องทำอะไรเองเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การเดินทางหรือการกิน นั่ง นอน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่สังคมเมืองขาดคือ ความสงบร่มเย็นของจิตใจหรือหลายๆสิ่งที่เป็นนามธรรมที่สัมผัสจับต้องไม่ได้ แต่ทุกสิ่งกลับให้คุณค่ากับการดำรงชีวิตอยู่ ต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร อากาศที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่คนเมืองหลายคนอยากสัมผัสแต่หาเวลาปลีกตัวออกมายากนัก ในทางตรงกันข้ามคนที่อยู่ที่อยู่นอกเมืองบางคนกลับอยากเข้ามาเรียนรู้สัมผัสชีวิตในเมืองเพราะมองว่า เป็นสถานที่ที่มีความอิสระและมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบทุกอย่างมีวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้และนำความสง่างามมาสู่พวกเขาโดยลืมไปว่าสถานที่ที่พวกเขาอยู่เป็นสถานที่ที่เป็นความจริงและหลายคนที่อยู่ไกลอยากเข้ามาสัมผัส

กระบวนการวิทยาศาสตร์ชุมชนที่มีหลักคิดในการใช้เหตุและผลในการกำกับเพื่อให้เกิดปัญญาแห่งการเรียนรู้และทำความเข้าใจ วิทยาศาสตร์ให้ความเป็นศาสตร์ในหลักการและเหตุผลรวมถึงการจัดหมวดหมู่ของความรู้ให้ลงตัวและในขณะเดียวกันความเป็นวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชนก็เป็นศิลป์อย่างดีในการแต่งแต้มความงดงามของการดำรงชีวิตในความเป็นชุมชนมีความงดงามและการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า ดังนั้นหลักการวิทยาศาสตร์ชุมชน จึงหันมาเน้นคุณค่าของภูมิปัญญาชุมชนในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและในขณะเดียวกันก็ต้องให้เด็กเข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นการสืบสานและให้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้
-กมล หอมกลิ่น-