วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2550

กิจกรรมรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ "ละครตะลอนทัวร์ ปี2"

กลุ่มสื่อใสวัยทีน บุกโรงเรียน “ตามล่า...หาแฟนพันธ์แท้”

เมื่อวันที่ 9-17สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา กลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้ตระเวนรับสมัครน้องๆที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ละครตะลอนทัวร์ ปี2” โดยบุกไป 5 โรงเรียนแล้ว คือโรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ,โรงเรียนวิจิตราพิทยา โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ,โรงเรียนเทศบาลบูรพา และโรงเรียนปทุมวิทยากรซึ่งได้รับการต้อนรับจากทางคณาจารย์เป็นอย่างดี และน้องๆเยาวชนให้ความสนใจชมละครมากกว่า 3,000 คน หลายๆคนบอกว่าชอบการแสดงละครเพราะได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานบันเทิงไปพร้อมกัน และน้องๆอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก...อะแฮ่ม!!!...ขอบอกว่ามีแน่....และคอยติดตามก็แล้วกัน









อนึ่ง ขณะนี้ กลุ่มสื่อใสวัยทีน ได้ดำเนินงาน“โครงการละครตะลอนทัวร์ ปี2 ตอน ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” ซึ่งกำลังตระเวนรับสมัครเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการ (ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายเดิมและขยายเพิ่มเติม) จำนวนทั้งหมด 5 โรงเรียน ในกิจกรรมรับสมัครนั้นจะมีการแสดงละคร เรื่อง “ตามล่า...หาแฟนพันธ์แท้” แล้วรับสมัครน้องๆที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะการละครและเรียนรู้เรื่อง “การเท่าทันสื่อ” จนสามารถสร้างสรรค์ละครตามแบบฉบับของตัวเองได้ ซึ่งคอยติดตามว่าน้องๆชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะมีทีเด็ดมากมายแค่ไหน.....(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ศิลปะ – วิทยาศาสตร์ ห้องเรียนมีชีวิตเปิดมุมใหม่สู่ธรรมชาติ

หากเอ่ยถึงการเรียนรู้หลายคนคงมองว่าต้องเป็นห้องสี่เหลี่ยม มีกำแพงรั้วรอบขอบชิด มีอาจารย์ผู้รู้คอยกำกับและให้คำสั่งหรือใส่ความรู้ให้ทุกคนจดจำเพื่อให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนไม่เคยรู้มาก่อน แต่บางทีวิธีการเรียนอาจไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว เพราะวิธีการเรียนรู้ของคนเรานั้นมีหลากหลาย บางทีการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับตำราและห้องสี่เลี่ยมและไม่แบ่งเส้นของความรู้ ทุกคนมีสิทธิ์เรียนได้ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ไหนๆ ทุกคนมีสิทธิ์สนุกกับการหาความรู้ใส่ตัว

เช่นเดียวกับค่ายศิลปะ-วิทยาศาสตร์ หรือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Science – Art Camp ที่จัดโดยกลุ่มสื่อใสวัยทีน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทีมผู้จัดได้ใช้สถานที่บ้านทุ่งนาเมือง ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ทำกิจกรรม งานนี้เด็กที่มาเข้าค่ายเป็นเด็กที่อยู่ในเมือง 25 คนและเด็กในพื้นที่หมู่บ้าน 25 คน รวมทั้งหมดเป็น 50 คน มีพี่เลี้ยงจากหลายองค์กรมาช่วยกันหนุนเสริมกระบวนการ สร้างความครึกครื้นให้กับกิจกรรมครั้งนี้ ทุกคนที่มาเข้าค่ายครั้งนี้จะได้รู้จักคำว่า “ศิลปะ” และคำว่า “วิทยาศาสตร์” โดยเรียนรู้ผ่าน “ภูมิปัญญา” ในชุมชนที่มีกิจกรรมการค้นหาสีธรรมชาติและการทำผ้ามัดย้อม

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆที่มากด้วยความเป็นวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้และภูเขา ซึ่งการจัดค่ายครั้งนี้ได้นำเด็กสองวัฒนธรรมมาเจอกัน ส่วนหนึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เช่นเด็กเมืองมาร่วมเรียนรู้กับวัฒนธรรมที่มีความเป็นศิลปะอย่างเด็กในชุมชน โดยที่มีครูซึ่งเป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ในชุมชนมาสอน พี่เปเล่หรือ คุณกิตติพงษ์ ภาษี หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ในการจัดค่ายครั้งนี้ถือเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาหนุนเสริม โดยมีวัตถุประสงค์คืออยากให้เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ส่วนเด็กในเมืองก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนเพราะเด็กในเมืองจะติดวัตถุ ดังนั้นการเอาเด็กเมืองออกมาเรียนรู้ในค่ายนี้จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของเพื่อนวัยเดียวกัน บางทีในช่วงที่ทำกิจกรรมร่วมกันอาจไม่ได้ผล 100% แต่ในกระบวนการเข้าค่ายจะทำให้เด็กเกิด การเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือการลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เดินป่าสำรวจก็เช่นเดียวกัน เป็นการทำให้เด็กตั้งสมมุติฐาน โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาหนุน เป็นการใช้หลักเหตุและผลสรุปผล ถ้าใช่ตามสมมุติฐานก็เป็นองค์ความรู้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ทดลองใหม่ เป้าหมายที่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ คือ การเข้าใจการดำเนินชีวิต การใช้เหตุและผลควบคู่กับการใช้ปัญญาโดยเบื้องต้นจะมุ่งไปที่เด็กก่อน จากภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วคือ สีและผ้าฝ้ายในชุมชน”

ในระหว่างค่ายมีหลากหลายกิจกรรมให้เด็กได้ร่วมเรียนรู้ เช่น กิจกรรม สำรวจฐานเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมปฏิบัติการค้นหาสีธรรมชาติและกิจกรรมการทำผ้ามัดย้อม โดยแต่ละกิจกรรมเด็กๆได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้แบบมีชีวิตที่เอาตัวเด็กเข้าไปสัมผัสกับการปฏิบัติจริง

“การนำเด็กเมืองมาเจอเด็กพื้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งของเด็กเมืองและเด็กในพื้นที่ ในส่วนของเด็กเมืองเป็นการได้มาเรียนรู้การปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่ เราต้องเข้าใจว่าเด็กมีประสบการณ์และความแตกต่างกัน เช่น บางคนไม่ชอบทำแต่ชอบดู หรือบางคนไม่ชอบดูแต่ชอบทำ มันเป็นการทำให้เด็กปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงที่จะต้องทำกระบวนการให้เข้มแข็ง เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านตัวกิจกรรม มีการเชื่อมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” น.ส.อรทัย ครั้งพิบูล อายุ 28 ปี หรือ พี่วี พี่เลี้ยงจากกลุ่มสื่อใสวัยทีน ครั้งนี้เธอมาร่วมทำกิจกรรมในฐานะนักนักจัดกระบวนการ เป็นผู้พาเด็กๆทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นงานที่พวกเขากำลังเรียนรู้

ห้องเรียนธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยต้นไม้และภูเขาและอบอุ่นด้วยความเป็นชุมชน ในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ จะเห็นเด็กๆจากในหมู่บ้านออกมานั่งทำหน้าสลอนมองดูพี่ที่กำลังออกไม้ออกมือร่าเริง เป็นบรรยากาศความสุขที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในความเป็นชุมชนเล็กๆของพวกเขา บางกิจกรรมเด็กจะต้องเดินป่า เช่น กิจกรรมปฏิบัติการค้นหาสีธรรมชาติ โดยมีพ่อใหญ่แม่ใหญ่จากในชุมชนมาเป็นผู้อาสาพาเดินเช่นเดิม เด็กๆทุกคนมีสมุดและปากกาเป็นอาวุธนอกจากนี้แล้วสิ่งที่ทุกคนจะขาดไม่ได้คือน้ำคนละขวด ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บรรเทาความเหนื่อยล้าจากการเดินครั้งนี้ ยังโชคดีที่ในระหว่างเส้นทางที่เดินทุกคนจะเห็นต้นไม้สูงตระหง่านปกคลุมไม่ให้ได้เจอแสงแดดมากนัก และในระหว่างนั้นเช่นเดียวกัน น้ำที่ไหลตามลำธารเล็กๆก็คอยเป็นกำลังใจที่ดีให้พวกเขาได้เดินอย่างเพลินใจ

เสียงพูดคุยของเด็กๆกลางป่าใหญ่ที่คอยถามพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่อาสาพาเดิน แสดงให้เห็นถึงอาการอยากรู้ของพวกเขา และก็เช่นเดียวกันเมื่อมีคนถามคนตอบก็พลอยมีกำลังใจในการตอบเช่นกัน ในกิจกรรมนี้เด็กๆได้รู้ถึงคุณค่าของต้นไม้ พวกเขารู้ว่านอกจากต้นไม้จะช่วยทำให้อากาศสดชื่นแล้วเปลือกของมันยังเป็นวัตถุดิบอย่างดีในการให้สีธรรมชาติ แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนที่จะได้เปลือกมาเป็นสีนั้น ทุกคนจะต้องรู้ถึงวิธีการเอาเปลือกของต้นไม้ เพราะวิธีการเอาเปลือกไม้นั้น จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง กล่าวคือ การถากเปลือกไม้แต่ละต้นจะต้องถากบางๆไม่ให้คมของมีดเข้าถึงเนื้อเยื่อของต้นไม้เพราะอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ และการถากเปลือกไม้จะต้องเอาในจำนวนที่ไม่มากเพราะต้นไม้จะต้องใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นการเสริมเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างดี


กิจกรรมนี้นอกจากเด็กๆจะได้ค้นหาสีจากเปลือกไม้แล้วพวกเขายังได้เดินไปดูสถานที่ปลูกต้นฝ้ายอันเป็นแหล่งกำเนิดของดอกฝ้ายก่อนจะมาเป็น “ฝ้ายอินทรีย์” ที่พวกเขาเห็น ต้นฝ้ายเหล่านี้จะปลูกตามตลิ่งริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นบริเวณดินที่มีความชุ่มชื้น โดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีใดๆก็จะได้ต้นฝ้ายและดอกฝ้ายตามใจปรารถนา “มาค่ายครั้งนี้ได้มาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชุมชนในความรู้สึก อยากให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของดำรงชีวิตแบบเดิมหรือแบบที่ชุมชนนี้เป็นอยู่ นั่นคือ การหันกลับมาใช้ของใช้ที่สามารถผลิตเองในชุมชนได้ ยิ่งการทำช่วยกันอย่างที่ในชุมชนเป็นก็จะทำให้ความสนิทสนมมีมากขึ้นความวุ่นวายเหมือนสังคมเมืองในปัจจุบันก็จะมีน้อยลง คนก็คงจะรู้จักการพึ่งตนเองเพราะทุกวันนี้ มีแต่เครื่องอำนวยความสะดวกหลายคนแทบไม่ได้ทำอะไรเองเลย” ด.ญ.พัทธกาน สายโสภา หรือน้องเกตุ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนปทุมวิทยากร เล่าสิ่งที่เธอได้ตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างของสังคมเมืองที่เธออาศัยอยู่และความเป็นชุมชนที่เธอได้มาสัมผัส

เป็นความจริงที่ในสังคมปัจจุบันที่คนส่วนมากมักมองเรื่องวัตถุเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้และอำนวยความสะดวกต่อคนปัจจุบัน โดยเฉพาะกับสังคมเมืองที่มีของใช้ทุกอย่างครบโดยที่ทุกคนแทบไม่ต้องทำอะไรเองเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การเดินทางหรือการกิน นั่ง นอน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่สังคมเมืองขาดคือ ความสงบร่มเย็นของจิตใจหรือหลายๆสิ่งที่เป็นนามธรรมที่สัมผัสจับต้องไม่ได้ แต่ทุกสิ่งกลับให้คุณค่ากับการดำรงชีวิตอยู่ ต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร อากาศที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่คนเมืองหลายคนอยากสัมผัสแต่หาเวลาปลีกตัวออกมายากนัก ในทางตรงกันข้ามคนที่อยู่ที่อยู่นอกเมืองบางคนกลับอยากเข้ามาเรียนรู้สัมผัสชีวิตในเมืองเพราะมองว่า เป็นสถานที่ที่มีความอิสระและมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบทุกอย่างมีวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้และนำความสง่างามมาสู่พวกเขาโดยลืมไปว่าสถานที่ที่พวกเขาอยู่เป็นสถานที่ที่เป็นความจริงและหลายคนที่อยู่ไกลอยากเข้ามาสัมผัส

กระบวนการวิทยาศาสตร์ชุมชนที่มีหลักคิดในการใช้เหตุและผลในการกำกับเพื่อให้เกิดปัญญาแห่งการเรียนรู้และทำความเข้าใจ วิทยาศาสตร์ให้ความเป็นศาสตร์ในหลักการและเหตุผลรวมถึงการจัดหมวดหมู่ของความรู้ให้ลงตัวและในขณะเดียวกันความเป็นวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชนก็เป็นศิลป์อย่างดีในการแต่งแต้มความงดงามของการดำรงชีวิตในความเป็นชุมชนมีความงดงามและการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า ดังนั้นหลักการวิทยาศาสตร์ชุมชน จึงหันมาเน้นคุณค่าของภูมิปัญญาชุมชนในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและในขณะเดียวกันก็ต้องให้เด็กเข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นการสืบสานและให้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้
-กมล หอมกลิ่น-